ข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติในไต้หวัน

ข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติในไต้หวัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ย. 2565

| 1,745 view

ข้อแนะนำเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติในไต้หวัน

ในสภาวะปกติ

            1. สำรวจว่าท่านและบุคคลในครอบครัวมีหนังสือเดินทางครบถ้วนและพร้อมเดินทางหากจำเป็น

            2. กรุณาแจ้งที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ให้สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ทราบตามที่อยู่ด้านล่าง

                        สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย

                    Thailand Trade and Economic Office

                    เลขที่ 206 ถนนซื้อหมิงต้าเต้า เขตไทเป

                    No. 206, Section3, Civic Boulevard, Da'an District, Taipei, 106.

                    โทรศัพท์ 02-2775 2211      โทรสาร 02-2773 1100

                    Hotline  09-5223-8931

            3. กรุณาจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานการค้าฯ ข้างต้นติดตัวตลอดเวลา

            4. โปรดติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ กับกลุ่มเพื่อนคนไทย

            5. พยายามติดต่อเพื่อนคนไทยอย่างสม่ำเสมอ

ในสภาวะที่เหตุการณ์ไม่ปลอดภัย/เหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง

            1. เตรียมหนังสือเดินทางให้พร้อมหากจำเป็น

            2. ติดต่อสำนักงานการค้าฯ เพื่อรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

            3. ติดตามข่าวสารตามโทรทัศน์ วิทยุ กับกลุ่มเพื่อนคนไทย ให้เพื่อนรู้ว่าเราอยู่ที่ใด ไปที่ไหน

            4. สำรองอาหาร เครื่องดื่ม เชื้อเพลิง ที่จำเป็น

            5. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีปัญหา หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามค่ำคืน

            6. ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตนในพื้นที่พักอาศัย หากมีความเสี่ยงและไม่จำเป็นต้องอยู่

                 ควรเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง

            โปรดติดต่อสำนักงานการค้าฯ เพื่อขอคำแนะนำ และอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อให้ติดต่อได้ตลอดเวลา

ยกเว้นกรณีที่พักอาศัยเป็นพื้นที่เสี่ยง ให้เดินทางออกจากพื้นที่และแจ้งที่พักอาศัยใหม่ให้สำนักงานการค้าฯ ทราบ

 

ข้อควรปฏิบัติกรณีเกิดภัยพิบัติธรรมชาติแผ่นดินไหว

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

บ้านพักอาศัย

  • ควรเตรียมกล่องพยาบาลและอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวทราบแหล่งที่เก็บ และวิธีการใช้
  • ควรรู้วิธีเปิด - ปิดสวิตช์ของแก๊สและประปา
  • ควรรัดสิ่งของในบ้านที่อยู่ในที่สูงให้แน่น ตู้ต่างๆ ควรใส่กุญแจปิดล็อคให้สนิท  
  • ไม่ควรวางของหนักในที่สูง ของใช้ในบ้านที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากควรติดตั้งให้มั่นคง
  • ควรศึกษาและจัดเตรียมจุดหลบภัยในบ้านให้พร้อมเสมอ

 

ห้องทำงานและแหล่งสาธารณะ

  • ควรตรวจเช็คอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นประจำ
  • ควจจัดทำแผนการฉุกเฉิน และแจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบถึงหน้าที่ของแต่ละคนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

ขณะเกิดแผ่นดินไหว

ภายในอาคาร

  • ตั้งสติและรีบปิดสวิตช์ไฟ แก๊ส และน้ำประปาทันที
  • เปิดประตูทางเข้าออก พยายามหาสิ่งของ(เบาะที่รองนั่ง)เพื่อใช้ป้องกันศีรษะ พยายามหลบใต้โต๊ะหรือใต้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่แข็งแรง หรือยืนใกล้กำแพงที่อยู่ตรงกลางของตึกอาคาร
  • ห้ามอยู่ใกล้หน้าต่างเด็ดขาด เนื่องจากกระจกหน้าต่างอาจจะแตก
  • ห้ามวิ่งออกนอกอาคารอย่างตื่นตกใจขาดสติ

ภายนอกอาคาร

  • ควรยืนอยู่ในที่โล่งหรือฟุตบาท ห้ามวิ่งเข้าไปในอาคารโดยตื่นตกใจ
  • ระวังป้ายหรือกระถางที่อาจตกลงมาจากที่สูง
  • ควรออกห่างจากอาคารที่กำลังก่อสร้าง เสาไฟฟ้า กำแพง หรือตู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้ติดตั้งหนาแน่น
  • หากอยู่บนสะพานลอยหรือทางเดินใต้ดิน ควรรีบเดินออกมาอย่างมีสติ
  • หากอยู่ในระหว่างขับขี่รถ ห้ามหยุดรถกระทันหัน ควรลดความเร็วและจอดข้างทาง และรีบหลบขึ้นฟุตบาทที่ใกล้ที่สุด
  • หากอยู่ในระหว่างการขับขี่รถบนทางด่วน ควรรีบขับออกจากทางด่วนโดยเร็วอย่างระมัดระวัง
  • หากอยู่ชานเมือง ควรไปอยู่ในแหล่งที่โล่ง และเดินออกห่างริมหน้าผา ริมทะเล ริมแม่น้ำ

โรงเรียน

  • หลบเข้าใต้โต๊ะ หันหลังเข้ากำแพง ใช้กระเป๋าหนังสือป้องกันศีรษะ   
  • ห้ามวิ่งออกนอกห้องเรียนอย่างตื่นตระหนก และห้ามวิ่งขึ้นหรือลงบันได
  • หากอยู่ในสนาม ต้องออกห่างตัวอาคาร
  • หากอยู่ในรถโรงเรียนที่กำลังแล่น ให้นั่งอยู่กับที่จนกว่ารถจอดสนิทแล้ว

ห้องทำงานและแหล่งสาธารณะ

  • ระวังสิ่งของที่อาจตกลงมาจากที่สูง (เช่นโคมไฟ)
  • ขณะอยู่ในห้องทำงาน ควรหลบใต้โต๊ะหรือใต้เฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงหรือยืนข้างเสา แต่ต้องออกห่างหน้าต่าง
  • ขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ควรหาทางออกที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีผู้คนแออัด
  • ห้ามวิ่งออกไปด้านนอกอย่างตื่นตระหนก ห้ามใช้ลิฟท์

หลังแผ่นดินไหว

  • ตรวจสอบคนรอบข้างว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ควรให้การปฐมพยาบาลในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น
  • ตรวจเช็คท่อน้ำ สายไฟ และสายแก๊สว่า มีการชำรุดเสียหายหรือไม่ หากพบว่าสายแก๊สชำรุดเสียหาย ควรค่อยๆ เปิดประตูหน้าต่าง และออกจากพื้นที่พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
  • เปิดวิทยุรับฟังข่าวสารข้อมูลและคำชี้แนะเกี่ยวกับภัยพิบัติ
  • ตรวจสอบสภาพความชำรุดเสียหายของโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และควรหลีกห่างอาคารบ้านเรือนที่ชำรุดเสียหายและควรใช้บันได
  • ควรใส่รองเท้าหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเศษกระจกบาด
  • เพื่อรักษาช่องทางกู้ภัยให้มีความคล่องตัว ควรหนีภัยด้วยการเดิน
  • ฟังคำชี้แนะของเจ้าพนักงานในการหนีภัย
  • ควรออกห่างริมทะเล ท่าเรือ เพื่อป้องกันกรณีเกิดเหตุสึนามิ
  • ห้ามเข้าในเขตประสบภัยแผ่นดินไหวโดยมิได้รับอนุญาต และควรระมัดระวังการลักขโมยทรัพย์สินด้วย
  • ระวังการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (After shock)

สรุป - ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวนั้น อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากเรามีการวางแผนที่ดีและใช้วิธีที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุ จะสามารถลดความเสียหายจากภัยอันตรายได้อย่างมาก