สารจากผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เรียน พี่น้องคนไทยในไต้หวันที่เคารพทุกท่าน
ตามที่ผมได้เข้ารับหน้าที่ผู้อำนวยการใหญ่ฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จนถึงวันนี้ครบหนึ่งปี ผมขออนุญาตสวัสดีปีใหม่ (ตรุษจีน) พี่น้องคนไทย และขอเรียนรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ในรอบหนึ่งปีโดยสรุป ดังนี้
๑. การดูแลพี่น้องคนไทย
ในรอบปี ๒๕๖๗ สำนักงานการค้าฯ ได้มุ่งเน้นการยกระดับและพิถีพิถันกับการให้บริการพี่น้องคนไทยในไต้หวัน จำนวน ๘๐,๐๐๐ คน ให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับประชาชน โดยฝ่ายกงสุลได้ออกหน่วยสัญจรเพื่ออำนวยความสะดวกพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่นอกไทเป รวม ๒๕ ครั้ง เราได้ให้บริการทำหนังสือเดินทางไปแล้วจำนวนกว่า ๘,๑๐๐ เล่ม สำหรับคนไทยทั่วไต้หวัน เพื่อช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาไม่ต้องเดินทางไปไทเป สำหรับภารกิจด้านการคุ้มครองดูแลคนไทยตกทุกข์ได้ยาก สำนักงานการค้าฯ ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่ประสบเหตุฉุกเฉิน บาดเจ็บ ล้มป่วย รวมทั้งกรณีการเสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง เราได้ให้ความช่วยเหลือคนไทย ๑๗,๐๓๗ ราย ส่งอัฐิผู้เสียชีวิตกลับบ้านรวม ๑๐ ราย พวกเรายังได้เดินทางไปเยี่ยมและมอบของใช้ที่จำเป็นแก่คนไทยที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกุยซานและสถานกักกันซานเสีย
๒. การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับไต้หวัน
ในปี ๒๕๖๗ ไต้หวันเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๕ ของไทย (๘.๕ แสนล้านบาท) และลงทุนที่ประเทศไทยเป็นอันดับที่ ๔ (๕ หมื่นล้านบาท) ที่ผ่านมา สำนักงานการค้าฯ จึงให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของไทยที่ทันสมัย และเพิ่มช่องทางการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนแก่ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมชั้นสูง โดยผมได้มีโอกาสพบปะสนทนากับผู้บริหารระดับเจ้ากระทรวงหลายท่าน อาทิ กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงกิจการเพื่อการพัฒนาไต้หวัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัล กระทรวงกิจการชุมชนโพ้นทะเล ผู้แทนการค้าไต้หวัน และประธานกรรมการกองทุน Taiwania เป็นต้น
นอกจากบุคคลสำคัญในภาครัฐแล้ว ผมยังให้ความสำคัญกับการผูกมิตรและมีกิจกรรมร่วมกับภาคเอกชนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง อาทิ Kinpo Group กลุ่มบริษัทสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกที่ลงทุนในไทยมากว่า ๓๐ ปี และผู้บริหารระดับสูงของ PSMC บริษัทเซมิคอนดักเตอร์อันดับต้นของไต้หวัน Evergreen ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่อันดับ ๑ ของไต้หวัน นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับไต้หวัน สำนักงานการค้าฯ จึงได้ผลักดันให้มีการลงนามความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย - ไต้หวัน (BIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ โดยผมเป็นผู้แทนฝ่ายไทยลงนามในความตกลงดังกล่าว ซึ่งได้ช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรอย่างยิ่งต่อการลงทุน และเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจการค้า เกิดการจ้างงานในประเทศไทย คนไทยมีงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการดูแลการลงทุนของไทยในไต้หวันด้วย
อนึ่ง ผมได้นำคณะนักธุรกิจไต้หวันเยือนไทยเพื่อสำรวจลู่ทางการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงในประเทศไทยซึ่งเป็นความชำนาญของฝ่ายไต้หวันอีกด้วย โดยจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง
๓. การส่งเสริมการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน
คนไทยกับคนไต้หวันมีมิตรภาพมาอย่างยาวนาน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันได้เดินทางไปไทย ๑.๒ ล้านคน ในปี ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา สำนักงานการค้าฯ ได้สนับสนุนการให้มาตรการฟรีวีซ่า (๖๐ วัน) แก่คนไต้หวันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในไทย และมีการพัฒนาระบบ e-Visa เพื่อให้บริการการขอวีซ่าออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งได้เริ่มเปิดใช้แล้วเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๘ ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวระยะยาวหรือทำงานที่ประเทศไทยเป็นไปได้โดยสะดวกรวดเร็ว
ทั้งนี้ โดยที่ในปี ๒๕๖๗ เป็นปีมหามงคลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ สำนักงานการค้าฯ จึงได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยการจัดงานการแสดงดนตรีคลาสสิกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับไต้หวันผ่านดนตรี ทำให้คนไต้หวันได้รู้จักพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านดนตรีอย่างกว้างขวาง พร้อมนี้ สำนักงานการค้าฯ ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการกิจการทหารผ่านศึกไต้หวันจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสืบสาน รักษา ต่อยอด ในไต้หวัน โดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชาวไต้หวันได้มีโอกาสซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในการพัฒนาประเทศ
ในด้านการส่งเสริม Soft Power ของไทย สำนักงานการค้าฯ ยังได้จัดเทศกาลไทยที่ไทเป ซึ่งนอกจากมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ไทยหลายรายการแล้ว ยังได้นำการแสดงทางวัฒนธรรมและดนตรีหลายชุดจากประเทศไทยมาให้ชาวไต้หวันได้สัมผัสถึงบรรยากาศ เพื่อเชิญชวนให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ไทย รวมถึงยังได้จัดเทศกาลอาหารไทยที่ไทเปและเถาหยวนเพื่อให้ชาวไต้หวันได้รู้จักวัฒนธรรมไทยยิ่งขึ้นผ่านอาหารไทยจากภาคต่าง ๆ อนึ่ง สำนักงานการค้าฯ ยังได้จัดเทศกาลภาพยนตร์ไทย ณ Huashan 1914 Creative Park โดยได้นำภาพยนตร์ไทยมาฉายจำนวน ๖ เรื่อง ที่มีเรื่องราวหลากหลาย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากคนไต้หวัน ตลอดจนยังได้จัดฉายภาพยนตร์เรื่องหลานม่ารอบพิเศษ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ไทยที่สร้างชื่อเสียงและทำรายได้มากที่สุดทั่วโลกเป็นประวัติการณ์ของภาพยนตร์ไทย
ท้ายนี้ ผมจึงขอเรียนพี่น้องคนไทยว่า ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการค้าฯ ซึ่งคือบทบาทเดียวกับสถานทูตไทยในประเทศอื่น ๆ พวกเราได้พยายามส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเกียรติภูมิของชุมชนไทยในไต้หวัน รวมถึงการขยายลู่ทางความร่วมมือกับไต้หวันเพื่อสร้างความเจริญและความผาสุก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องคนไทย เราถือว่ารอยยิ้มของท่านคืองานของเรา และหากท่านมีข้อคิดเห็นประการใด ผม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่มีความยินดีที่จะรับฟังคำติชมและพร้อมให้บริการพี่น้องคนไทยอย่างเต็มกำลังต่อไป
นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์
ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
เวลาทำการ | วันจันทร์ - ศุกร์ | 9:00-12:00, 14:00-17:00 | |
🕿 | บริการคนไทย | (8862) 2775 2211 |
Thai Visa | (8862) 2773 1100 | |
🖷 | Fax | (8862) 2740-3300 |
🖅 | General Affairs | [email protected], [email protected] |
บริการคนไทย | [email protected] | |
Thai Visa | [email protected] |