ความหมายตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

ความหมายตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ก.พ. 2567

| 263 view

ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ประกอบด้วย

• อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ตรงกลาง อักษร ว ใช้สีขาวนวล สีแห่งวันจันทร์วันพระบรมราชสมภพ ตามคติมหาทักษา อักษร ป ใช้สีเหลือง วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอักษร ร ใช้สีฟ้า วันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อยู่บนรูปทรงของเพชร อันหมายถึง พระปรมาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เพชรสีขาบ (น้ำเงินแก่) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์

• ภายนอกกรอบของเพชร ประกอบด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งเดชวันพระบรมราชสมภพ ประดับด้วยเพชร ๗๒ เม็ด หมายถึง พระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

• เบื้องบนประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงทรงเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์

• เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพแผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน

• ยอดจงกลฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์ ดอกจำปาทองห้อยระบายชั้นล่างนพปฎลมหาเศวตฉัตร ๘ ดอก หมายถึง พระบารมีแผ่ไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ

• เลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

• เบื้องล่างปลายแถบแพร เบื้องขวามีรูปคชสีห์กายสีม่วงชมพูประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดิน

• เบื้องล่างประกอบด้วยลวดลายพญานาคกายสีเขียว อันแสดงถึงนักษัตรปีมะโรงอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ

• แพรแถบสีส้มขลิบทองซึ่งเป็นสีแห่งมูละของวันพระบรมราชสมภพ ภายในแพรแถบมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” ใต้อักษรพระปรมาภิไธย ประกอบด้วยตัวเลข ๗๒ หมายถึงพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา

• ลวดลายเฟื่องอุบะและลวดลายดอกรวงผึ้ง ดอกไม้ประจำพระองค์มีสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและประเทศชาติ

ที่มา เว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์