แผนอพยพคนไทยในกรณีเกิดวิกฤตการณ์

แผนอพยพคนไทยในกรณีเกิดวิกฤตการณ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 ต.ค. 2567

| 9,630 view

ข้อแนะนำ(แผนอพยพ)สำหรับคนไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติในไต้หวัน

ในสภาวะปกติ  

1. สำรวจว่าท่านและบุคคลในครอบครัวมีหนังสือเดินทางครบถ้วนและพร้อมเดินทางหากจำเป็น

2. กรุณาแจ้งที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ให้สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ทราบตามที่อยู่ด้านล่าง

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย
เลขที่ 206 ถนนซื่อหมินต้าเต้าตอน3 เขตต้าอัน เมืองไทเป

Thailand Trade and Economic Office

No. 206 Civic Boulevard section 3, Da-an district, Taipei City 10666

泰國貿易經濟辦事處

台北市大安區市民大道三段206號

โทรศัพท์ 02 2775 2211, 02 2773 1100  โทรสาร 02 2740 3300

3. กรุณาจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของสำนักงานการค้าฯ ข้างต้นติดตัวตลอดเวลา

4. โปรดติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ วิทยุ กับกลุ่มเพื่อนคนไทย

5. พยายามติดต่อเพื่อนคนไทยอย่างสม่ำเสมอ

 

ในสภาวะที่เหตุการณ์ไม่ปลอดภัย/เหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง

1. เตรียมหนังสือเดินทางให้พร้อมหากจำเป็น

2. ติดต่อสำนักงานการค้าฯ เพื่อรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

3. ติดตามข่าวสารตามโทรทัศน์ วิทยุ กับกลุ่มเพื่อนคนไทย ให้เพื่อนรู้ว่าเราอยู่ที่ใด ไปที่ไหน

4. สำรองอาหาร เครื่องดื่ม เชื้อเพลิง ที่จำเป็น

5. หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีปัญหา หลีกเลี่ยงการเดินทางในยามค่ำคืน

6. ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตนในพื้นที่พักอาศัย หากมีความเสี่ยงและไม่จำเป็นต้องอยู่ ควรเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยง

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน/ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง

โปรดติดต่อสำนักงานการค้าฯ เพื่อขอคำแนะนำ และอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อให้ติดต่อได้ตลอดเวลา ยกเว้นกรณีที่พักอาศัยเป็นพื้นที่เสี่ยง ให้เดินทางออกจากพื้นที่และแจ้งที่พักอาศัยใหม่ให้สำนักงานการค้าฯ ทราบ

 

 

ข้อควรปฏิบัติขณะเกิดภัยพิบัติธรรมชาติแผ่นดินไหว

 

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

บ้านพักอาศัย

1. ควรเตรียมกล่องพยาบาลและอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวทราบแหล่งที่เก็บ และวิธีการใช้

2. ควรรู้วิธีเปิด - ปิดสวิตช์ของแก๊สและประปา

3. ควรรัดสิ่งของในบ้านที่อยู่ในที่สูงให้แน่น  ตู้ต่างๆ ควรใส่กูญแจปิดล็อคให้สนิท  

4. ไม่ควรวางของหนักในที่สูง ของใช้ในบ้านที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากควรติดตั้งให้มั่นคง

5. ควรศึกษาและจัดเตรียมจุดหลบภัยในบ้านให้พร้อมเสมอ

 

ห้องทำงานและแหล่งสาธารณะ 

6. ควรตรวจเช็คอุปกรณ์ดับเพลิงเป็นประจำ

7. ควรจัดทำแผนการฉุกเฉิน และแจ้งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทราบถึงหน้าที่ของแต่ละคนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

ขณะเกิดแผ่นดินไหว

ภายในอาคาร

1. ตั้งสติและรีบปิดสวิตช์ไฟ แก๊ส และน้ำประปาทันที

2. เปิดประตูทางเข้าออก พยายามหาสิ่งของ(เบาะที่รองนั่ง) เพื่อใช้ป้องกันศีรษะ พยายามหลบใต้โต๊ะหรือใต้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่แข็งแรงหรือยืนใกล้กำแพงที่อยู่ตรงกลางของตึกอาคาร

3. ห้ามอยู่ใกล้หน้าต่างเด็ดขาด เนื่องจากกระจกหน้าต่างอาจจะแตก

4. ห้ามวิ่งออกนอกอาคารโดยตื่นตกใจ

 

ภายนอกอาคาร

5. ควรยืนอยู่ในที่โล่งหรือฟุตบาท ห้ามวิ่งเข้าไปในอาคารโดยตื่นตกใจ

6. ระวังป้ายหรือกระถางที่อาจตกลงมาจากที่สูง

7. ควรออกห่างจากอาคารที่กำลังก่อสร้าง เสาไฟฟ้า กำแพง หรือตู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้ติดตั้งหนาแน่น

8. หากอยู่บนสะพานลอยหรือทางเดินใต้ดิน ควรรีบเดินออกมาอย่างมีสติ

9. หากอยู่ในระหว่างขับขี่รถ ห้ามหยุดรถกระทันหัน ควรลดความเร็วและจอดข้างทาง และรีบหลบขึ้นฟุตบาทที่ใกล้ที่สุด

10. หากอยู่ในระหว่างการขับขี่รถบนทางด่วน ควรรีบขับออกจากทางด่วนโดยเร็วอย่างระมัดระวัง

11. หากอยู่ชานเมือง ควรไปอยู่ในแหล่งที่โล่ง และเดินออกห่างริมหน้าผา ริมทะเล ริมแม่น้ำ

 

โรงเรียน

12.  หลบเข้าใต้โต๊ะ หันหลังเข้ากำแพง ใช้กระเป๋าหนังสือป้องกันศีรษะ   

13.  ห้ามวิ่งออกนอกห้องเรียนอย่างตื่นตระหนก และห้ามวิ่งขึ้นหรือลงบันได

14.  หากอยู่ในสนาม ต้องออกห่างตัวอาคาร

15.  หากอยู่ในรถโรงเรียนที่กำลังแล่น ให้นั่งอยู่กับที่จนกว่ารถจอดสนิทแล้ว

 

ห้องทำงานและแหล่งสาธารณะ

16.  ระวังสิ่งของที่อาจตกลงมาจากที่สูง (เช่นโคมไฟ)

17.  ขณะอยู่ในห้องทำงาน ควรหลบใต้โต๊ะหรือใต้เฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงหรือยืนข้างเสา แต่ต้องออกห่างหน้าต่าง

18.  ขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ควรหาทางออกที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีผู้คนแออัด

19.  ห้ามวิ่งออกไปด้านนอกอย่างตื่นตระหนก ห้ามใช้ลิฟท์

 

หลังแผ่นดินไหว

1.  ตรวจสอบคนรอบข้างว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ควรให้การปฐมพยาบาลในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น

2.  ตรวจเช็คท่อน้ำ สายไฟ และสายแก๊สว่า มีการชำรุดเสียหายหรือไม่ หากพบว่าสายแก๊สชำรุดเสียหาย ควรค่อยๆ เปิดประตูหน้าต่าง และออกจากพื้นที่พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

3.  เปิดวิทยุรับฟังข่าวสารข้อมูลและคำชี้แนะเกี่ยวกับภัยพิบัติ

4.  ตรวจสอบสภาพความชำรุดเสียหายของโครงสร้างอาคารบ้านเรือน และควรหลีกห่างอาคารบ้านเรือนที่ชำรุดเสียหายและควรใช้บันได

5.  ควรใส่รองเท้าหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเศษกระจกบาด

6.  รักษาช่องทางกู้ภัยให้มีความคล่องตัว ควรหนีภัยด้วยการเดิน

7.  ฟังคำชี้แนะของเจ้าพนักงานในการหนีภัย

8.  ออกห่างริมทะเล ท่าเรือ เพื่อป้องกันกรณีเกิดเหตุสึนามิ

9.  ห้ามเข้าในเขตประสบภัยแผ่นดินไหวโดยมิได้รับอนุญาต และควรระมัดระวังการลักขโมยทรัพย์สินด้วย

10. ระวังการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ (After shock)

 

สรุป ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวนั้น อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากเรามีการวางแผนที่ดี และใช้วิธีที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุจะสามารถลดความเสียหายจากภัยอันตรายได้อย่างมาก