COAST - Re-presenting Thai Flavour in Taiwan

COAST - Re-presenting Thai Flavour in Taiwan

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ค. 2565

| 1,950 view

เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีที่ประเทศไทยส่งเสริมอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกผ่านนโยบาย “Kitchen of the World” ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก และประสบความสำเร็จในความพยายามผลักดันให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ


ในส่วนของไต้หวันนั้น อาหารไทยได้รับความนิยมอยู่ในอันดับต้น ๆ ในทัศนคติของชาวไต้หวัน โดยจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าในไต้หวันมีผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในอยู่ประมาณ 1,500 ร้าน อย่างไรก็ดี ชาวไต้หวันทั่วไปยังคงมีภาพจำต่ออาหารไทยที่ค่อนข้างจำกัด มองว่าอาหารไทยเป็นอาหารรสจัด ทั้ง เปรี้ยว หวาน เค็ม และที่สำคัญอาหารไทยต้อง เผ็ด และเมื่อนึกถึงอาหารไทย มักจะนึกถึง ผัดไทย แกงเขียวหวาน ส้มตำ และผัดกะเพราหมู ซึ่งเป็นเมนูพื้นฐานตามร้านต่าง ๆ เท่านั้นความนิยมในอาหารไทย เป็นผลดีโดยตรงต่อการขยายตลาดสินค้าอาหารไทย และเครื่องปรุงรสไทยต่าง ๆ ให้สามารถส่งขายในต่างประเทศได้ ตลอดจนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในทางอ้อม อย่างไรก็ดี ตลาดอาหารไทยในไต้หวันแตกต่างกับตลาดอาหารไทยในภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากมีการปรับรสชาติอาหารให้เป็นไปตามความชอบและรสนิยมท้องถิ่นมากกว่า โดยอาหารไทยในไต้หวันส่วนมากจะมีรสที่อ่อนลงตามความชอบท้องถิ่น นอกจากนี้ ความหลากหลายของเมนูอาหารไทยที่มีขายทั่วไปยังคงมีไม่มากนัก ชาวไต้หวันจึงยังมีทัศนคติต่ออาหารไทยในบริบทที่จำกัด

ในช่วงปีที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทางไปมาระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างไทยและไต้หวันลดลงจากเดิมที่มีการเดินทางไป-มา ระหว่างกันสองฝ่ายมากกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียงหลักพันในปี 2020 และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ เชฟป๊อด เจษฎา เครือพันธ์ ที่เห็นโอกาสในการนำเสนอรสชาติความเป็นไทย ในรูปแบบใหม่ต่อตลาดไต้หวัน ในฐานะ Head Chef ของร้าน “COAST” ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจ MUME Hospitality Group (MMHG) ด้วยการผสมผสานรากฐานของอาหารไทย โดยใช้เครื่องเทศและสมุนไพรไทยร่วมกับวัตถุดิบท้องถิ่นในไต้หวันตามวิสัยทัศน์ของ MMHG ที่ดำเนินงานแบบ Internationally-minded Local Taste ตลอดจนใช้เทคนิคการประกอบอาหารแบบ Modern European มีการนำนวัตกรรมในการประกอบอาหารมาพัฒนาและยกระดับอาหารไทยขึ้นไปมากกว่าการนำเสนออาหารไทยแบบดั้งเดิม

การเปิดตัวของร้าน “COAST” ในช่วงปี 2020 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงรุนแรงอยู่ทั่วโลก นับเป็นการเริ่มต้นที่มีความท้าทาย แต่ COAST กลับสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่นและเป็นที่นิยมในไทเปภายในเวลาอันสั้น และมียอดจองเต็มทุกวันนับตั้งแต่เปิดร้านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการนำเสนอแนวคิดของร้าน และเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือในการรังสรรค์อาหารของเชฟป๊อดได้เป็นอย่างดี และแม้ว่า COAST จะมิได้นำเสนอความเป็นร้านอาหารไทยแบบจัดจ้าน แต่เมนูของร้านกลับสะท้อนความเป็นไทยและรสชาติแบบไทยไว้ได้อย่างลงตัว เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าไต้หวัน ที่ได้สัมผัสกับความเป็นไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้รู้จัก COAST เป็นครั้งแรกจากการบอกเล่าของชาวไต้หวันว่า มีร้านอาหารใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ เป็นร้านอาหารไทย จึงได้ติดตามเรื่องราวจนได้มาพบกับเชฟป๊อด เชฟชาวไทย ผู้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของคนไทยและอาหารไทยในไต้หวันให้กับกลุ่มผู้บริโภค Fine dining
จากการพูดคุยกัน เชฟได้อธิบายเบื้องหลังแนวคิดในการนำเสนอและสร้างสรรค์เมนูไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเปรียบว่า การส่งเสริมอาหารไทยดั้งเดิมเป็นภาษาไทย การสร้างสรรค์เมนูของ COAST คือ การนำสิ่งเดียวกันมานำเสนอเป็นภาษาจีน ด้วยการใช้วัตถุดิบชั้นดีในท้องถิ่น และนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษด้วยการใช้เทคนิคการประกอบอาหารแบบตะวันตก เพื่อให้คนต่างชาติเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ทำให้อาหารไทยเข้าถึงง่ายและเป็นสากล การนำเทคนิคการทำอาหารของวัฒนธรรมอื่นมาประยุกต์ใช้กับอาหารไทยทำให้อาหารไทยมีความร่วมสมัย และดึงรสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบได้ดียิ่งขึ้น

หนึ่งในเมนูของร้าน COAST ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไต้หวัน คือ ชาเย็น (Thai Tea) ซึ่งเป็นการนำชาเย็นไทยธรรมดา ๆ มาสร้างสรรค์เป็นขนมหวานที่ไม่ธรรมดาได้อย่างมีระดับ และคงเอกลักษณ์ความเป็นชาไทย โดยเชฟป๊อดเล่าแนวคิดเบื้องหลังเมนูนี้ ว่า แต่เดิมชาวไต้หวันมีวัฒนธรรมนิยมดื่มชาอยู่แล้ว และรู้จักชาไทย จึงได้เลือกนำ ชาไทย มาเป็นตัวแทนความเป็นไทยผสมผสานกับวัฒนธรรมการดื่มชาของไต้หวัน ออกมาเป็นเมนูขนมหวานที่เป็นที่ชื่นชอบ ไม่เพียงเฉพาะอาหารไทยเท่านั้น เชฟป๊อดยังมีแนวคิดในการนำวัฒนธรรมร่วมของอาเซียนในด้านอาหารมาประกอบกันเป็นเมนูของที่ร้าน โดยยังคงเอกลักษณ์ของอาหารไทยเป็นหลัก เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคที่ส่งเสริมกัน โดยใช้อาหารไทยเป็นตัวนำ
การเล่าเรื่องความเป็นอาหารไทยผ่านเมนูต่าง ๆ ของเชฟป๊อด ได้หลุดออกจากกรอบเดิมของการนำเสนออาหารไทยในไต้หวัน โดยได้นำเสนอเมนูอาหารไทยที่มีความซับซ้อนและมีกลิ่นอายของแต่ละภูมิภาคของไทยได้อย่างมีเสน่ห์ ผ่านการตีความ เมี่ยงคำ ข้าวซอย และ ห่อหมกใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการนำเสนออย่างสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม
บรรยากาศภายในร้าน การออกแบบเมนูอาหารในแต่ละฤดูกาล ตลอดจนภาชนะและการตกแต่งอาหารแต่ละจาน เป็นไปตามชื่อร้าน สอดคล้องกับคำว่า “COAST” หรือ “ชายฝั่ง” ทั้งในแง่ของที่ตั้งของไต้หวันที่เป็นเกาะ และการเลือกใช้วัตถุดิบจากทะเลที่สดและมีคุณภาพของไต้หวันเป็นตัวนำ

นอกจากความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเมนู คุณภาพของวัตถุดิบ และฝีมือการทำอาหารที่พิถีพิถันของทีมงาน COAST ที่รับประกันประสบการณ์การรับประทานอาหารที่น่าประทับใจแล้ว เชฟป๊อดยังตระหนักถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน (sustainability) และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล และใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณขยะเหลือทิ้ง ให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้รับบริการอย่างไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม

โดยที่ไต้หวันเป็นอีกหนึ่ง Fine Dining Destination ที่มีชื่อเสียงของเอเชีย การเกิดขึ้นของ COAST ได้ตีความและนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่านอาหารไทยในอีกมุมมองหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ และถือเป็นโอกาสที่ดีของเชฟไทยที่จะแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ในวงการร้านอาหารของไต้หวันต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ